ในการกำหนดเป้าหมาย(Goal) หรือตัวชี้วัด(KPI) ในการทำงาน นั้น มักพบว่าหน่วยงานที่สามารถกำหนด KPI ได้ง่าย จะเป็นกลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักขององค์กร เช่น ฝ่ายขาย หรือฝ่ายผลิต
...
เป้าหมายของหน่วยงานประเภทนี้ จะเป็นเป้าหมายแบบกำหนดตัวเลขขึ้นมาได้เลยว่า จะต้องมีเป้าหมายเท่าไหร่ โดยตัวเลขที่มาของเป้าหมายในปีนี้นั้น(Target) ก็จะเทียบจากทีที่แล้ว(Base Line)
และก็ประเมินความเป็นไปได้ในการการเติบโต จากข้อมูลแหล่งต่างๆที่เกี่ยวข้อง บวกกับความต้องการของผู้บริหาร ว่าต้องการกำหนดเป้าหมายเท่าใดในปีปัจจุบัน
...
โดยไม่เป็นทางการผมขอเรียกเป้าหมายประเภทนี้ว่าเป้าเชิงรุก คือเราสามารถกำหนดเป้าหมายปลายทางได้เป็นจำนวนชัดเจนเลยว่ามีจำนวนเท่าใด
- เช่น มีเป้ายอดขาย = 1,000 MB ในปีนี้
- มีเป้าจำนวนการผลิต (เพื่อจัดจำหน่ายเอง) = 1,000,000 ชิ้น ในปีนี้
....................
แต่หน่วยงานที่ไม่สามารถกำหนดเป้าหมาย ได้เองล่วงหน้า โดยมาจะเป็นหน่วยงานสนับสนุน หรืองานที่ต้องให้บริการหน่วยงานอื่นในองค์กร
เช่น ฝ่ายงานจัดส่งสินค้า เรากำหนดล่วงหน้าไม่ได้ว่า จะต้องส่งกี่ครั้งในปีนั้นๆ
หรือ จัดซื้อก็จะกำหนดล่วงหน้าไม่ได้ว่า จะต้องจัดซื้อเป็นจำนวนเท่าใด
ซึ่งเป้าหมายลักษณะนี้ ผมขอเรียกว่าเป็นเป้าหมายเชิงรับ เพราะต้องกำหนดเป้าหมายอิงจากตัวเลขของหน่วยงานที่เราให้บริการ หรือหน่วยงานที่เราสนับสนุน
ดังนั้นรูปแบบของเป้าหมายเชิงรับ ก็จะเป็นลักษณะ % การปฏิบัติได้ตามที่ร้องขอ หรือ % การปฏิบัติได้ตามแผน หรือเติมเต็มสิ่งที่ร้องของ (Fulfillment)
เช่น
- % การจัดซื้อได้ตามแผน
- % การสรรหาพนักงานได้ตามเวลากำหนด
- % การจัดส่งสินค้าได้ทันตามกำหนดเวลา
- % การผลิตได้ตามแผน (กรณีผลิตตาม Order หรือ ตาม Planning)
...............
อ้างอิงจากบทความก่อนหน้านี้ ที่ผมได้กล่าวถึง มิติของเป้าหมาย ว่า เป้าหมายที่ดีควรตอบโจทย์ด้านต่างๆ ในมิติของ PQCDS ด้วย
ดังนั้นหน่วยงานที่ต้องทำงานในลักษณะ ตามแผน หรือตามการร้องขอ หรือตามการสั่งซื้อ แม้เราไม่สามารถกำหนดเป้าหมาย เป็นจำนวนล่วงหน้าได้ เราก็สามารถกำหนดเป้าหมายใน มิติอื่นๆได้เช่น ในมิติของ
- ด้าน Productivity : อัตราการผลิต, จำนวนงาน/เวลา, จำนวนงาน/คนงาน
- ด้าน Quality : %งานที่ผ่านคุณภาพ, จำนวนความถูกต้อง, จำนวนความผิดพลาด
- ด้าน Cost : % ต้นทุน/แผน, % ค่าใช้จ่าย/งบ
- ด้าน Delivery : %การส่งมอบตามแผน, จำนวนครั้งที่ส่งงานไม่ทันกำหนด
- ด้าน Safety : จำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงาน
...........
ถ้าเปรียบเป็นฟุตบอล กองหน้าสามารถตั้งเป้าให้กับตัวเองได้ว่า ฤดูกาลนี้ จะยิงให้ได้กี่ประตู แต่ผู้รักษาประตู ไม่สามารถตั้งเป้าได้ ว่าจะรับให้ได้กี่ครั้ง เพราะยังไม่รู้ว่าจะถูกยิงกี่ครั้ง แต่ผู้รักษาประตูก็สามารถกำหนดได้ว่า จะยอมเสียประตูไม่เกินกี่ลูก หรือ ป้องกันประตูให้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ของที่ยิงมา
..........
และในลักษณะของการกำหนดเป้าหมาย แบบเชิงรุกและเชิงรับ นั้นเราก็สามารถมองในมุมที่คล้ายคลึงกันของ Lead Indicator และ Lag Indicator ได้เช่นกัน
ซึ่งคนที่รับผิดชอบเรื่องของ KPI ในองค์กรคงคุ้นเคยกับ สองคำนี้ดี
แล้ว สองคำนี้หมายถึงอะไร
...
ในการทำงาน เมื่องานเสร็จเรียบร้อยเกิดผลงานขึ้นมา ตัวชี้วัดที่วัดผลงาน เราเรียกตัวชี้วัดผลงานที่สำเร็จเรียบร้อยว่า Lag Indicator (หรือตัวชี้วัดตาม) แต่ทุกผลงาน ก็ย่อมเกิดจากการลงมือปฏิบัติ หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามนั้น ผลงานปลายทางก็อาจไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
...
ดังนั้นเราอาจต้องมีการกำหนด ตัวชี้วัดในระหว่างการปฏิบัติงานขึ้นมา เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ถ้าลงมือปฏิบัติได้ตามเป้าที่กำหนดแล้วนั้น ผลงานปลายทางจะเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ เช่น % จำนวนครั้งที่ปฏิบัติงานได้ตามกำหนด ตัวชี้วัดประเภทนี้เราเรียกว่า Lead Indicator (ตัวชี้วัดนำ)
ดังนั้นจะเห็นว่า หน่วยงานที่ งานของเรามีหน้าที่สนับสนุน หรือให้บริการหน่วยงานอื่น เป้าหมายของเราจะเป็นประเภท Lead Indicator ซะเป็นส่วนใหญ่
................
เป้าหมายเชิงรับ ไม่ได้ใช้กับหน่วยงาน ระดับหน่วยงานสนับสนุน เท่านั้น ในระดับ Business Unit หรือแม้แต่องค์กร บางองค์กรก็ต้องกำหนดแบบนี้
ยกตัวอย่างเช่นบางองค์กรในประเทศไทย ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศ และต้องผลิตสินค้าตามจำนวนที่สั่งจากต่างประเทศ หรือแม้แต่บริษัท ที่รับจ้างผลิตสินค้า จากลูกค้าเจ้าประจำก็เช่นเดียวกัน หลายองค์กรก็ไม่ได้มีแผนการผลิต หรือ คำสั่งซื้อล่วงหน้าทั้งปี มักจะมีการกำหนดยอดผลิตหรือคำสั่งซื้อมาเป็นระยะๆ ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดจำนวนผลิตล่วงหน้าเป็นเป้าหมายรายปีได้ ต้องทำตามที่ลูกค้าหรือบริษัทแม่สั่งมาเท่านั้น
.................
แต่ขอให้ข้อคิดว่า ถึงแม้เราไม่สามารถตั้งเป้าจำนวนงานล่วงหน้าประจำปีได้ แต่เราสามารถตั้ง KPI ล่วงหน้าได้ โดยใช้การกำหนด KPI ในมิติต่างๆ แบบเชิงรับ เพื่อให้เราสามารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อความสำเร็จ เติบโตและยั่งยืน ขององค์กรต่อไป
......................................
แล้วคุยกันใหม่ครับ
|